0-2318-7235 ต่อ 450 bma4urban.information@gmail.com

ที่มา

สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ได้ประเมินผลการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ซึ่งผลการประเมินปรากฏสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ จึงได้เสนอและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผังเมืองในการประชุมครั้งที่ 7/2561 วันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ให้กรุงเทพมหานครดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อใช้บังคับแทนผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันต่อไป

สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง จึงได้ดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น จนกระทั่งได้มีการตราพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ให้ใช้บังคับแทนพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และคณะกรรมการผังเมือง ในการประชุมครั้งที่ 1/2564 วันที่ 28 มกราคม 2564 ได้มีมติให้ผังเมืองรวมที่ยังไม่ได้เสนอและได้รับการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะกรรมการผังเมือง ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 กำหนด จึงทำให้ต้องดำเนินการปรับเพิ่ม – ลดเนื้องานการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ให้สอดคล้องตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดและทบทวน ปรับปรุงข้อมูลที่ได้จัดเก็บไว้เดิมให้เป็นปัจจุบัน อีกทั้งยังต้องดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ แก้ไขปรับปรุง และเพิ่มเติมแผนผังและข้อกำหนดต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ฯลฯ ตลอดจนการสร้างความเข้าใจและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้เป็นไปอย่างกว้างขวางตามที่พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 กำหนด

แนวความคิดในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

การวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้ถ่ายทอดนโยบายที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570 แผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานราชการ และแผนขององค์การรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนโยบายและแผนการพัฒนากรุงเทพมหานคร สู่การดำเนินการผ่านการวางและจัดทำผังนโยบายการใช้ประโยชน์พื้นที่ ซึ่งประกอบด้วยผังนโยบายระดับประเทศ และผังนโยบายระดับภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และการวางและจัดทำผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งประกอบด้วยผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 ตามลำดับ โดยผลจากการประมวลนโยบายและแผนต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น สามารถกำหนดแนวความคิดในการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) โดยมีปีเป้าหมาย พ.ศ. 2580 ดังนี้

1) การส่งเสริมบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองหลายศูนย์กลาง ประกอบด้วยศูนย์กลางหลักบริเวณย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง (Central Business District หรือ CBD) ย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง (sub-CBD) ศูนย์ชุมชนชานเมือง (subcenter) และศูนย์พาณิชยกรรมชุมชน (community center) ที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ประกอบกับการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ที่มีบทบาทความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพมหานครและของประเทศ ได้แก่ ย่านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยว ย่านสถาบันการบริหารปกครอง ย่านนวัตกรรมและเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันกับมหานครต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2) การปรับเปลี่ยนจากมหานครที่ใช้รถยนต์เป็นมหานครที่ใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระบบขนส่งสาธารณะ และการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์

การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำเป็นต่อการสร้างเสริมความสะดวกในการเข้าถึงโดยการพัฒนาโครงข่ายถนนสายประธาน ถนนสายหลัก และถนนสายรอง ในพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ (super block) ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจรบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development หรือ TOD) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรอง (feeder system) การส่งเสริมการเดินทางโดยยานพาหนะที่ไม่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และการเดินเท้า ตลอดจนการเชื่อมต่อการคมนาคมและขนส่งทางบกกับการคมนาคมและขนส่งทางน้ำและทางอากาศ ทั้งภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดปริมณฑล และภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศและระหว่างประเทศ

3) การสร้างเสริมการให้บริการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นไปตามมาตรฐาน

การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยและประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในกรุงเทพมหานคร โดยการสร้างเสริมประสิทธิภาพการให้บริการด้านสาธารณูปโภค ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา การสื่อสารโทรคมนาคม การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม การรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย การจัดเก็บและกำจัดขยะ ฯลฯ ที่เพียงพอต่อความต้องการและเป็นไปตามมาตรฐาน ประกอบกับการให้บริการด้านสาธารณูปการ ได้แก่ สวนสาธารณะ สถานศึกษา สถานพยาบาล ฯลฯ ที่มีการกระจายการให้บริการที่ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก สอดคล้องกับการกระจายตัวตามจำนวนและโครงสร้างอายุและเพศของประชากร และสามารถรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (completely aged society) ในอนาคตของกรุงเทพมหานคร

4) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นมหานครที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่มีความรุนแรงจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝน น้ำท่วมหลาก และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำะเล ประกอบกับการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) โดยการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน (renewable energy) ประกอบกับการลดการใช้พลังงานในอาคาร การใช้พลังงานในภาคการคมนาคมและขนส่ง การจัดการขยะและน้ำเสีย และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้กรุงเทพมหานครมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ในปี พ.ศ. 2608 ตามลำดับ

5) การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวิติศาสตร์และโบราณคดี และการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม

การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของกรุงเทพมหานคร เพื่อความภาคภูมิของประชาชนในชาติ และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมของกรุงเทพมหานครที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความเหมาะสมต่อการปลูกข้าว พืชสวน และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อการสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหาร (food security) โดยการเป็นแหล่งการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย (good agricultural product หรือ GAP) และการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคการเกษตรและผลต่อการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร

ภาพที่ 1 ผังโครงสร้างการพัฒนากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2580

การวางและจัดทำ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จะเป็นไปตามผังโครงสร้างการพัฒนากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2580 ซึ่งมีแนวความคิดในการอนุรักษ์บริเวณพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และการสร้างเสริมความสง่างามของย่านสถาบันการบริหารปกครองของประเทศในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร การส่งเสริมการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง และย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง ควบคู่กับการสร้างเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากในบริเวณพื้นที่การให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในบริเวณพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยถนนวงแหวนรัชดาภิเษก

การพัฒนาภายในบริเวณพื้นที่เขตชั้นกลางระหว่างถนนวงแหวนรัชดาภิเษกกับถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก ที่มีการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจะส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ประกอบกับการพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยในบริเวณพื้นที่ที่ยังไม่มีการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โดยมีการพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมืองและศูนย์พาณิชยกรรมชุมชนเพื่อสร้างเสริมความสมดุลระหว่างที่อยู่อาศัยและแหล่งงานของเขตชั้นกลางและเขตชั้นนอก ควบคู่กับการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมในบริเวณพื้นที่ภายนอกของถนนวงแหวนกาญจนาภิเษก

วัตถุประสงค์ของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

(ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดในมาตรา 22 (1) ดังนี้
  1. ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน และมีความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย โดยการพัฒนาบริการทางสังคม สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ให้พอเพียงและได้มาตรฐาน
  2. ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจและพาณิชยกรรมของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้มีความพร้อมต่อการลงทุนในระดับที่สามารถแข่งขันได้
  3. ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยว และการเป็นทางผ่านเข้าออกของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม และพัฒนาอุตสาหกรรม การท่องเที่ยวและการบริการให้เป็นศูนย์กลางในการจัดประชุมและนิทรรศการนานาชาติ
  4. ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางบริหารราชการของประเทศ และเป็นที่ตั้งของสถาบันที่สำคัญของประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ โดยการพัฒนาย่านสถาบันราชการและองค์การระหว่างประเทศให้มีภาพลักษณ์ที่สง่างาม และสร้างเสริมประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดินของภาครัฐ
  5. ส่งเสริมความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางและการขนส่ง โดยการพัฒนาและเชื่อมโยงระบบขนส่งมวลชนโดยเฉพาะการขนส่งทางราง การพัฒนาบริเวณจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร และโครงข่ายการคมนาคมขนส่งให้สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ
  6. ส่งเสริมความสมดุลของที่อยู่อาศัยและแหล่งงาน (job and housing balance) เพื่อลดการเดินทาง โดยการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสม (mixed use) การพัฒนาปรับปรุงและฟื้นฟูย่านที่อยู่อาศัยในเขตเมืองชั้นใน และพัฒนาศูนย์ชุมชนชานเมือง
  7. ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของเมือง และการผลิตที่ต้องใช้ทักษะ แรงงานฝีมือ นวัตกรรม และเทคโนโลยีชั้นสูง ที่ไม่มีความเสี่ยงต่ออุบัติภัยและปราศจากมลพิษ
  8. ดำรงรักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์ ความมั่นคงทางอาหาร เกษตรกรรมเมือง และเกษตรปลอดภัย โดยการบริหารจัดการการเติบโตของเมืองเพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองแบบกระชับ (compact city)
  9. ส่งเสริมความเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของชุมชนทั้งของกรุงเทพมหานครและของชาติ โดยการอนุรักษ์และฟื้นฟูสถานที่และวัตถุที่มีคุณค่าทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี
  10. ส่งเสริมและรักษาระบบนิเวศน์ และภูมิทัศน์การตั้งถิ่นฐาน โดยการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่คงคุณค่า และการบำรุงรักษาและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม
  11. ส่งเสริมความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยการป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติและจากการกระทำของมนุษย์ รวมถึงการก่อวินาศกรรม
  12. ส่งเสริมการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยการลดการใช้พลังงาน ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อช่วยลดก๊าซเรือนกระจก

แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท

แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีสาระสำคัญในการรองรับความต้องการการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และอุตสาหกรรมที่เป็นนวัตกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ประกอบกับการควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน (land use control) ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขลักษณะ (health) ความปลอดภัยของประชาชน (safety) และสวัสดิภาพของสังคม (welfare) และการควบคุมความหนาแน่นหรือมวลอาคาร (density หรือ bulk control) ที่แตกต่างกันในการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท การเชื่อมโยงระหว่างการใช้ประโยชน์ที่ดินกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองกระชับ (compact city) เพื่อการสงวนรักษาพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความอุดมสมบูรณ์
ภาพที่ 2 แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
ตารางแสดงพื้นที่และอัตราส่วนร้อยละของการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภทของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

แผนผังแสดงที่โล่ง

แผนผังแสดงที่โล่งของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีสาระสำคัญในการจัดให้มีที่โล่งเพื่อนันทนาการ ประกอบด้วยสวนสาธารณะระดับเมือง ระดับย่าน และระดับชุมชนหรือละแวกบ้าน ที่เพียงพอต่อความต้องการและสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก และการกำหนดให้มีที่โล่งเพื่อการสงวนรักษาและส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยพื้นที่สีเขียวริมถนน และพื้นที่สีเขียวริมแม่น้ำและลำคลองเพื่อเชื่อมต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ (green linkage) ของกรุงเทพมหานคร
ภาพที่ 3 แผนผังแสดงที่โล่งของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
ตารางจำนวนและพื้นที่ของที่โล่งของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง

แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่ง และการเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่งของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีสาระสำคัญในการพัฒนาโครงข่ายและการเชื่อมต่อการคมนาคมและการขนส่งทางบก ทั้งการพัฒนาโครงข่ายถนนสายประธาน ถนนสายหลัก และถนนสายรองในพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ (super block) ให้มีความสมบูรณ์ และการเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การคมนาคมและการขนส่งทางน้ำ และทางอากาศ การพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจร (Transit Oriented Development หรือ TOD) และการส่งเสริมการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะ และการเดินทางโดยยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์และการเดินเท้า

ภาพที่ 4 แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่งของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

ตารางขนาดเขตทาง จำนวน และความยาวของถนนเดิมขยายและถนนโครงการของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ

แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีสาระสำคัญในพัฒนาโครงข่ายสาธารณูปโภค ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา การรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย การจัดเก็บและกำจัดขยะ ฯลฯ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน และการกำหนดที่ตั้งและขนาดพื้นที่ของโครงการสาธารณูปการ และบริการสาธารณะ เพื่อให้หน่วยงานราชการและองค์การรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภาพที่ 5 แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ ของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

ตารางจำนวนโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีสาระสำคัญในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของบริเวณพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สืบทอดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ และการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์และมีความเหมาะสมด้านเกษตรกรรมที่สำคัญ ได้แก่ นาข้าว พืชสวน การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และการสงวนรักษาและฟื้นฟูป่าชายเลน
ภาพที่ 6 แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
ตารางแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

แผนผังแสดงผังน้ำ

แผนผังแสดงผังน้ำของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีสาระสำคัญในการบริหารจัดการน้ำเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งของกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยโครงข่ายแม่น้ำ คลอง หนอง บึง แก้มลิง ช่องผันน้ำ ทางน้ำหลาก คันและพนังป้องกันน้ำท่วม อุโมงค์ระบายน้ำ ประตูน้ำ สถานีสูบน้ำ ฯลฯ ภายในกรุงเทพมหานคร และการเชื่อมต่อกับระบบการป้องกันน้ำท่วมและการระบายน้ำของจังหวัดปริมณฑลในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำบางปะกง
ภาพที่ 7 แผนผังแสดงผังน้ำของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
ตารางโครงการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วมของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

มาตรการส่งเสริมและชดเชยเยียวยา

(ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้กำหนดให้มีนโยบาย มาตรการ และวิธีดำเนินการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวมตามมาตรา 22 (6) ประกอบด้วยมาตรการส่งเสริม ได้แก่ การให้อัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินเพิ่มขึ้น (FAR bonus) ในการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายต่าง ๆ ตามที่กำหนดเพิ่มขึ้นจากผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 3) ได้แก่ การจัดให้มีที่ว่างเพื่อใช้ประโยชน์สาธารณะริมฝั่งแม่น้ำ ลำคลอง หรือแหล่งน้ำสาธารณะ การจัดให้มีพื้นที่บริเวณเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน การจัดให้มีพื้นที่รองรับการจัดระเบียบทางเท้า การจัดให้มีถนนสาธารณะ ที่เชื่อมต่อระหว่างถนนสาธารณะ 2 สาย และการจัดให้มีสถานรับเลี้ยงเด็กหรือสถานที่ดูแลผู้สูงอายุในเวลากลางวัน
ภาพที่ 8 มาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR bonus) ตามที่มีอยู่เดิมในกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556
ภาพที่ 9 มาตรการเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR bonus) ที่เพิ่มขึ้นใน (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
นอกจากนี้ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ยังได้กำหนดให้มีมาตรการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Planned Unit Development หรือ PUD) ในบริเวณการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก และพาณิชยกรรม สามารถปรับเปลี่ยนอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio หรือ FAR) ของแต่ละบริเวณภายในพื้นที่โครงการ โดยยังคงไว้ซึ่งพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดินของโครงการตามที่ผังเมืองรวมกำหนด
ภาพที่ 10 มาตรการโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ (Planned Unit Development หรือ PUD) ของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
(ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ได้กำหนดให้มีมาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (Transfer of Development Right หรือ TDR) สำหรับการถ่ายโอน (ขาย) พื้นที่อาคารตามอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio หรือ FAR) ที่เกินกว่าความต้องการหรือไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ไปยังพื้นที่รับโอน (ซื้อ) ภายในบริเวณการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้จำแนกประเภท เพื่อผลต่อการพัฒนาให้เป็นไปตามศักยภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินของบริเวณนั้น ๆ และสำหรับการถ่ายโอน (ขาย) สิทธิการพัฒนาจากพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโบราณสถาน ไปยังพื้นที่รับโอน (ซื้อ) ในย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง และย่านพาณิชยกรรมบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อการชดเชยเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในการอนุรักษ์โบราณสถานส่งเสริมความเป็นอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร
ภาพที่ 11 มาตรการโอนสิทธิการพัฒนา (TDR) ใน (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

การใช้บังคับ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)

(ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ซึ่งได้ดำเนินการวางและจัดทำตามขั้นตอนตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 แล้ว จะออกเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครให้ใช้บังคับแทนกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ต่อไป
Visitor : 5,517