0-2318-7235 ต่อ 450 bma4urban.information@gmail.com

หนังสือแสดงความคิดเห็น

ยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นเพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ตามมาตรา 30 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

ยื่นได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567

การยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นทางเว็บไซต์ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นเพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง
หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทางเว็บไซต์ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

ได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567

วิธีการยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็น

การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวม สามารถกระทำได้ 3 วิธี ดังนี้

  1. ด้วยวาจา ให้กระทำได้เฉพาะในระหว่างการประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนเท่านั้น
  2. เป็นลายลักษณ์อักษร ให้กระทำได้ภายใน วันที่ 23 ธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 โดย
    • ยื่นต่อเจ้าหน้าที่ในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชนในที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน
    • ยื่นต่อเจ้าหน้าที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร
    • ส่งทางไปรษณีย์ไปที่สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร

      เลขที่ 45 ถนนมิตรไมตรี แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 10400

      ในกรณีส่งทางไปรษณีย์ให้ถือว่าวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับไปรษณียภัณฑ์ที่บรรจุความคิดเห็นนั้น เป็นวันที่กรุงเทพมหานครรับความคิดเห็น

    • การแสดงความคิดเห็นที่เป็นลายลักษณ์อักษรนั้น อย่างน้อย ต้องมีรายการดังต่อไปนี้
      1. ชื่อ-สกุล เลขที่บัตรประชาชน ที่อยู่ และลายมือชื่อของผู้ยื่นความคิดเห็น และในกรณีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นแทนผู้อื่น ต้องแนบใบมอบอำนาจให้แสดงความคิดเห็นแทนด้วย
      2. ระบุเรื่องอันเป็นผลกระทบต่อสิทธิของตนเองหรือประโยชน์ส่วนรวมที่เกิดหรืออาจจะเกิดจากผังเมืองรวมที่วางและจัดทำนั้นพร้อมเหตุผล
  3. ทางเว็บไซต์ ของสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ให้กระทำได้ภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2566 จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 ได้ที่ : https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4/

หลักเกณฑ์ในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

บุคคลผู้มีสิทธิแสดงข้อคิดเห็น ได้แก่ บุคคลดังต่อไปนี้

1.เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรืออาคารที่ตั้งอยู่ในท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองรวม หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากบุคคลดังกล่าว

2.ผู้แทนหน่วยงานของรัฐ ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการศึกษาด้านการผังเมือง หรือสิ่งแวดล้อม

3.สมาชิกรัฐสภาและสมาชิกสภาท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่จะวางและจัดทำผังเมืองรวม

4.ผู้แทนองค์กร/สมาคม ผู้แทนภาคเอกชน บุคคลหรือคณะบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

เงื่อนไขในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการวางและจัดทำผังเมืองรวมจะต้องเป็นความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหา หรือการพัฒนาท้องถิ่นที่วางและจัดทำผังเมืองรวม หรืออาจเป็นข้อคิดเห็นที่เกี่ยวกับสุขลักษณะ ความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัยของประชาชนและสวัสดิภาพของสังคม การส่งเสริมเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม การดำรงรักษา หรือบูรณะสถานที่และวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี หรือการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศที่งดงามหรือมีคุณค่าในทางธรรมชาติในบริเวณที่วางและจัดทำผังเมืองรวม
การแสดงความคิดเห็นจะแสดงความคิดเห็นเฉพาะเรื่องอันเป็นผลกระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์ของตนเองหรือของส่วนรวมที่เกิดหรืออาจจะเกิดจากผังเมืองรวมที่วางและจัดทำนั้นก็ได้ ทั้งนี้ ให้ผู้แสดงความคิดเห็นแสดงข้อเท็จจริง เหตุผล และอาจระบุแนวทางในการแก้ไขปัญหานั้นด้วย

ความสำคัญของการยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็น

  • เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของประชาชนโดยการรักษาสิทธิไว้ล่วงหน้าเป็นหนังสือ
  • เพื่อให้มีผลถึงการขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในขั้นตอนของการปิดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน โดยใช้เอกสารดังกล่าวประกอบในการยื่นคำร้อง
กรณีที่ไม่ยื่นแสดงความคิดเห็นจะมีผลอย่างไร
  • ผลทางกฎหมาย การที่ไม่ได้มีการยื่นแสดงความคิดเห็นในกรณีข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามมาตรา 22 (5) ภายในระยะเวลาที่กำหนด บุคคลนั้นจะไม่มีสิทธิในการยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินในขั้นตอนการปิดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันตามมาตรา 30 วรรคสอง เนื่องจากในการยื่นคำร้องของผู้มีส่วนได้เสียดังกล่าวจะต้องใช้เอกสารหลักฐานการแสดงความคิดเห็นนั้นมาใช้เป็นหลักฐานประกอบในการยื่นคำร้องช่วงขั้นตอนการปิดประกาศ 90 วันด้วย
  • หากมีผู้ยื่นแสดงความคิดเห็นเกินระยะเวลาที่กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับเรื่องดังกล่าวและรวบรวมเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและบันทึกวันที่มายื่นแสดงความคิดเห็นเกินเวลาไว้เป็นหลักฐาน หากต่อมาบุคคลนั้นได้มีการยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามมาตรา 22 (5) ในขั้นตอนการปิดประกาศเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน ก็จะได้นำหลักฐานดังกล่าวมาใช้เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการผังเมืองหรือคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด แล้วแต่กรณี

แนะนำให้ประชาชนทั้งที่เห็นด้วยและที่มีความคิดเห็นแตกต่างทุกรายยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นไว้ก่อน
ตามหนังสือแสดงความคิดเห็นตามแบบ
สค.

ระยะเวลาการยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็น

หลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องยื่นคำขอสงวนสิทธิ์ในวันประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หรือช่องทางอื่นๆ ที่ได้ประชาสัมพันธ์ไว้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นผู้มีส่วนได้เสียจะ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ในการยื่นคำร้องขอแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) ในขั้นตอนการปิดประกาศไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน

ภายหลังจากการประชุมรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน

ระหว่างวันที่ 23-24 ธันวาคม 2566 และ วันที่ 6 มกราคม 2567

ท่านสามารถยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินพร้อมสงวนสิทธิ์ได้

ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 ธันวาคม 2566 จนถึงวันศุกร์ที่ 30 สิงหาคม 2567

ดาวน์โหลดหนังสือแสดงความคิดเห็น

ผู้มีส่วนได้เสียสามารถดาวน์โหลดไฟล์แบบฟอร์มหนังสือแสดงความคิดเห็นเพื่อให้มีผลเกี่ยวกับสิทธิ
ในการยื่นคำร้องขอให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ตามมาตรา 30 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562

Visitor : 9,367