สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ได้ประเมินผลการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ซึ่งผลการประเมินปรากฏสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ จึงได้เสนอและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผังเมืองในการประชุมครั้งที่ 7/2561 วันที่ 24 กรกฎาคม 2561 ให้กรุงเทพมหานครดำเนินการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อใช้บังคับแทนผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันต่อไป
1) การส่งเสริมบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองหลายศูนย์กลาง ประกอบด้วยศูนย์กลางหลักบริเวณย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง (Central Business District หรือ CBD) ย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง (sub-CBD) ศูนย์ชุมชนชานเมือง (subcenter) และศูนย์พาณิชยกรรมชุมชน (community center) ที่สอดคล้องกับการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ประกอบกับการส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ที่มีบทบาทความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของกรุงเทพมหานครและของประเทศ ได้แก่ ย่านอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมการท่องเที่ยว ย่านสถาบันการบริหารปกครอง ย่านนวัตกรรมและเขตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันกับมหานครต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2) การปรับเปลี่ยนจากมหานครที่ใช้รถยนต์เป็นมหานครที่ใช้รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ระบบขนส่งสาธารณะ และการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์
การพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำเป็นต่อการสร้างเสริมความสะดวกในการเข้าถึงโดยการพัฒนาโครงข่ายถนนสายประธาน ถนนสายหลัก และถนนสายรอง ในพื้นที่ปิดล้อมขนาดใหญ่ (super block) ประกอบกับการพัฒนาพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจรบริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (Transit Oriented Development หรือ TOD) การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะรอง (feeder system) การส่งเสริมการเดินทางโดยยานพาหนะที่ไม่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และการเดินเท้า ตลอดจนการเชื่อมต่อการคมนาคมและขนส่งทางบกกับการคมนาคมและขนส่งทางน้ำและทางอากาศ ทั้งภายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดปริมณฑล และภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศและระหว่างประเทศ
3) การสร้างเสริมการให้บริการด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นไปตามมาตรฐาน
การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อยู่อาศัยและประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในกรุงเทพมหานคร โดยการสร้างเสริมประสิทธิภาพการให้บริการด้านสาธารณูปโภค ได้แก่ ไฟฟ้า ประปา การสื่อสารโทรคมนาคม การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม การรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย การจัดเก็บและกำจัดขยะ ฯลฯ ที่เพียงพอต่อความต้องการและเป็นไปตามมาตรฐาน ประกอบกับการให้บริการด้านสาธารณูปการ ได้แก่ สวนสาธารณะ สถานศึกษา สถานพยาบาล ฯลฯ ที่มีการกระจายการให้บริการที่ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก สอดคล้องกับการกระจายตัวตามจำนวนและโครงสร้างอายุและเพศของประชากร และสามารถรองรับการเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (completely aged society) ในอนาคตของกรุงเทพมหานคร
4) การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นมหานครที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) โดยการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่มีความรุนแรงจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณน้ำฝน น้ำท่วมหลาก และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำะเล ประกอบกับการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gas) โดยการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน (renewable energy) ประกอบกับการลดการใช้พลังงานในอาคาร การใช้พลังงานในภาคการคมนาคมและขนส่ง การจัดการขยะและน้ำเสีย และการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้กรุงเทพมหานครมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero emission) ในปี พ.ศ. 2608 ตามลำดับ
5) การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวิติศาสตร์และโบราณคดี และการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม
การอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีของกรุงเทพมหานคร เพื่อความภาคภูมิของประชาชนในชาติ และเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงการสงวนรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมของกรุงเทพมหานครที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีความเหมาะสมต่อการปลูกข้าว พืชสวน และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อการสร้างเสริมความมั่นคงทางอาหาร (food security) โดยการเป็นแหล่งการผลิตอาหารที่มีความปลอดภัย (good agricultural product หรือ GAP) และการส่งเสริมเศรษฐกิจภาคการเกษตรและผลต่อการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
การวางและจัดทำ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) จะเป็นไปตามผังโครงสร้างการพัฒนากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2580 ซึ่งมีแนวความคิดในการอนุรักษ์บริเวณพื้นที่ที่มีคุณค่าความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี และการสร้างเสริมความสง่างามของย่านสถาบันการบริหารปกครองของประเทศในเขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร การส่งเสริมการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจในย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางเมือง และย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง ควบคู่กับการสร้างเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมของย่านที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากในบริเวณพื้นที่การให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนภายในบริเวณพื้นที่ที่ล้อมรอบด้วยถนนวงแหวนรัชดาภิเษก
ภาพที่ 4 แผนผังแสดงโครงการการคมนาคมและการขนส่งของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)
ภาพที่ 5 แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ ของ (ร่าง) ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4)